ประวัติกันตรึมในประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของกันตรึมในประเทศไทย

images

เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ตามประวัติแต่โบราณใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง รำคู่ และรำหมู่ ต่อมามีวิวัฒนาการของการเล่นคล้ายกับการเล่นเพลงปฏิพากย์ ในภาคกลาง มีกลองที่เรียกว่า “กลองกันตรึม” เป็นหลัก เมื่อตีเสียงจะออกเป็นเสียง กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม การเล่นจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน เล่นได้ทุกโอกาสไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล กล่าวกันว่า ท่วงทำนองของเพลงกันตรึมมีกว่า ๑๐๐ ทำนอง บทเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม ชมธรรมชาติ แข่งขันปฏิภาณ สู่ขวัญ เล่าเรื่อง ฯลฯ

สงบ บุญคล้อย (๒๕๔๖ : ๑๖๒ ) กล่าวว่า กันตรึมหรือโจ๊ะกันตรึม เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวอีสานใต้ เป็นการละเล่นที่มีดนตรีประกอบ และถือว่าดนตรีประกอบ และถือว่าดนตรีมีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุด ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ส่วนคำร้องเป็นของชาวเขมรสูงที่มีในสามจังหวัด คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ การเล่นกันตรึมได้รับความนิยมมากในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ จากการสืบประวัติการเล่นกันตรึมไม่ค่อยได้รายละเอียดมากนัก ทราบแต่เพียงว่าการเล่นแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดมาแต่ขอม แต่เดิมการเล่นใช้สำหรับประกอบการบวงสรวง เวลามีการทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรมก็ใช้ดนตรีกันตรึม บรรเลงกันเป็นพื้นบ้าน ซึ่งต่างกันในจังหวะลีลาจะแตกต่างกันไปตามพิธีแต่ละงาน กล่าวคือ งานแต่งงานก็บรรเลงอย่างหนึ่ง งานศพอย่างหนึ่ง และเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงก็ต้องให้เหมาะสมกับงาน แต่ถ้าเป็นงานศพก็มักจะใช้ปี่อ้อ (แป็ยออ) มาบรรเลง แต่ถ้าเป็นงานแต่งงานมักใช้ปี่เตรียงหรือ ปี่เญ็นแทนปี่อ้อ เป็นต้น

องค์ประกอบของวงดนตรีพื้นบ้านกันตรึม

gthfg

เครื่องดนตรี

วงดนตรีกันตรึมพื้นบ้านแบบเดิม มีเครื่องดนตรีครบชุด ประกอบด้วย กลองกันตรึม 2 ลูก ซอตรัวเอก 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ขลุ่ย 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่

ผู้เล่น

ผู้เล่นมีประมาณ 6 – 8 คน และมีนักร้องชาย – หญิง โดยทั่ว ๆ ไป มักนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน ถ้าเครื่องคนตรีไม่ครบตามที่กล่าวไว้ วงกันตรึมบางคณะก็อาจจะอนุโลมให้มีเครื่องดนตรีดังนี้ กลองกันตรึม 1 ลูก ซอกันตรึม 1 คัน ฉิ่ง 1 คู่ ซึ่งก็จะมีนักดนตรี เพียง 4 คน และอาจจะมีนักร้องฝ่ายชาย 1 คน และฝ่ายหญิง 1 คน ซึ่งถ้าฝีมือคนเล่นซอมีความสามารถ เป็นพิเศษ บรรเลงได้ไพเราะก็จะได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ถือว่าครบชุดเป็นวงดนตรีพื้นเมืองได้

1354888388

การแต่งกาย

การแต่งกายแต่งตามประเพณีของท้องถิ่น ผู้หญิงนุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก ผ้าสไบเฉียงห่มทับ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอวและพาดไหล่

จุดมุ่งหมายของการเล่นกันตรึม 

สงบ บุญคล้อย (๒๕๒๒ : ๙๐ ) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายการเล่นกันตรึม ว่า

1. เล่นตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ได้แก่ โจลมะม็วดบองบ็อด     เป็นการทรงเจ้าเช้าผี

2. เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเกี่ยวกับงานมงคลต่าง ๆ เช่น ทำบุญบ้าน บวชนาค โกนจุก บุญฉลองอัฐิ และบุญกฐิน ฯลฯ

3. เล่นเพื่อเฉลิมฉลองในงานประจำปี เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง และเทศกาลรื่นเริง ประจำปีอื่น ๆ

4. เล่นเพื่อเป็นการรักษาศิลปะ ประเพณีการละเล่นพื้นบ้านมิให้สูญหาย

5. เล่นเพื่อเป็นการส่งเสริมหารแสดงด้านดนตรี เพราะถือว่า กันตรึมเป็นดนตรีที่มีความสำคัญมาแต่โบราณและเป็นดนตรี ถือว่ามีความไพเราะเข้าถึงจิตใจ ของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่น ๆ ในชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรในเขตอีสานใต้ ซึ่ง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะงานแต่งงาน ถือว่าถ้าขาดดนตรีกันตรึม เจ้าสาวบางคนถึงกับวางเงื่อนไขว่าหากไม่เอากันตรึมมากล่อมหอ จะไม่ยอมร่วมหอลงโรงด้วยและถึงกับมีการเลิกร้าง การแต่งงานกลางคันก็มี เพราะถือว่าไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้เจ้าสาวเสียขวัญและกำลังใจ หรืออาจจะมีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งหมายถึงการหย่าร้างหรือพลัดพรากจากกัน

จะเห็นว่ากันตรึมก็มีรูปแบบการเล่น เช่นเดียวกับการเล่นดนตรีของไทยภาคกลาง คือเมื่อก่อนจะเล่นต้องมีการไหว้ครู เพื่อให้เป็นศิริมงคลแก่ผู้เล่น หลังจากไหว้ครูเสร็จแล้วจึงเริ่มเล่น โดยนักแสดงจะต้องเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครูก่อน เช่นกันหลังจากนั้นจึงร้องบทต่าง ๆ ไป เนื้อหาที่ร้องส่วนใหญ่เป็นการเกี้ยวพาราสีกัน และร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายขายและฝ่ายหญิง เช่นเดียวกับการเล่นพื้นเมืองของภาคกลาง เช่น รำตัด หรือเพลงสักวา สำหรับภาษาที่ใช้ร้องส่วนมากจะใช้ภาษาไทยเขมร กลอนที่ร้องส่วนมากจะใช้การท่องจำกลอนร้องที่ ตกทอดกันมา

ที่มา : http://wissanusangketkit.blogspot.com/2011/08/blog-post.html.

ใส่ความเห็น