กันตรึม ดนตรีแห่งชีวิต 2/3

กันตรึมเป็นดนตรีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของอีสานใต้ ร้องเป็นภาษาเขมร ที่มาของชื่อกันตรึม สันนิษฐานกันว่า มาจากจังหวะเสียงกลอง หรือ สกัว ที่ใช้เล่นเสียงดังฟังว่า โจ๊ะ ครึม ครึม หรือ โจ๊ะ ตรึม ตรึม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ กันตรึม ชาวไทยเชื้อสายเขมรตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงปัจจุบันเล่นกันตรึมประกอบในพิธีกรรม เพื่อรักษาคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เชื่อว่าสาเหตุของอาการป่วย มาจากเทวดาอารักษ์ลงโทษ เนื่องจากการทำผิดของผู้ป่วย การเล่นเพลงกันตรึมในยุคโน้นจึงเรียกว่า การเล่นเพลงอารักษ์ เพลงที่ร้องส่วนใหญ่มักเป็นบทเพลงที่ถ่ายทอดต่อๆกันมา ขณะที่ทำนองเพลงนั้นมีมากมายนับร้อย ทุกครั้งที่เล่นกันตรึมจะต้องขึ้นต้นด้วยเพลงไหว้ครูเสมอ นอกจากนั้นยังมีทำนองแห่ ทำนองพิธีกรรม และทำนองเบ็ดเตล็ด ซึ่งจะใช้เนื้อร้องทำนองใดขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน วงดนตรีกันตรึมประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ชนิด คือ กลอง 1 คู่ เป็นเสียงกลองทุ้มกับเสียงกลองแหลม หรือกลองตัวผู้ และกลองตัวเมียอย่างละใบ ตรัวหรือซอ เปยหรือปี่อ้อ นอกจากนั้นก็เสริมด้วยฉิ่ง ฉาบเล็กและกรับ ตามความเหมะสม มีนักดนตรี 4-8 คน ในสมัยก่อนในงานศพจะมีตุ้มมูลสำหรับผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน หรืออาจจะมีการตีฆ้อง

ในหมู่บ้านลูกหลานนิยมใช้กันตรึมในงานศพเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ตาย ในงานมงคลอย่างงานแต่งถือว่ากันตรึมเป็นส่วนสำคัญที่สุด ว่ากันว่าหากไม่มีกันตรึมเจ้าสาวก็จะไม่แต่งงานด้วย ในอดีตกันตรึมในงานแต่งงานไม่ใช่มีบทบาทในการกล่อมแห่เท่านั้น ยังมีบทบาทในการทำนายลักษณะเพศของลูกด้วย

ข้อความนี้ถูกเขียนใน สารคดี กันตรึม คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น